ในฐานะสื่อมวลชนสายงานสารคดี ผู้เขียนมีโอกาสไปสัมผัสวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมในประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอินโดจีน คือ เวียดนาม ลาว กัมพูชา เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี เป็นต้นมา ส่วนใหญ่เป็นภาพสะท้อนอาการตื่นตะลึงของคนที่แทบไม่รู้จักเพื่อนบ้านของตนเอง และแทบไม่เชื่อว่า ดินแดนที่มีการสู้รับกันดุเดือดเลือดพล่านอย่างอินโดจีนจะเต็มไปด้วยร่องรอยอารยธรรมโบราณอันชวนอึ้ง อย่างมหาปราสาทนครวัด เปี่ยมด้วยสีสันวัฒนธรรมทรงเสน่ห์ อย่างเว้ หลวงพระบาง และดารดาษด้วยหมู่เจดีย์จากแรงศรัทธามหาศาลนับพันๆ องค์อย่างพุกาม ครั้นเมื่อเกิดโครงการคัดสรรบทความสารคดีที่กระจัดกระจายในหลายสื่อดังกล่าวมารวมเป็นเล่มที่อยู่ในมือท่านเวลานี้ จึงตั้งชื่อหนังสือว่า “มนตราอาเซียน” เพื่อสะท้อนความจริงคือ ไม่ว่าอาเซียนจะเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีและเข็มนาฬิกาสักเพียงใด แต่รากของสังคมผสมผสาน และจิตวิญญาณแห่งพหุวัฒนธรรมที่หยั่งลึก ทำให้อาเซียนยังทรงเสน่ห์ ดั่งมีมนตรามัดตรึงใจผู้ไปเยือนไม่เสื่อมคลาย การเรียนรู้ท่ามกลางการเดินทาง เปิดประตูใจให้ยอมรับความแตกต่างของชาวอาเซียน กระทั่งยอมรับว่า เราสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้ หากเคารพในความ “ไม่เหมือน” กันและกัน ซึ่งวันนี้คือหัวใจสำคัญองการสถาปนา “ประชาคมอาเซียน” ภายใต้คำขวัญ “Unity on Diversity”...เอกภาพบนความแตกต่างและหลากหลาย นี่คือสาระสำคัญที่สุด ที่ผู้เขียนปรารถนาจะนำเสนอผ่านหนังสือเล่มนี้